วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สีม้า

 
 
สีของม้า
 
 
 
 


          สีของขนม้า เป็นสิ่งที่สังเกตเพื่อให้รู้จักม้าแต่ละตัวฉะนั้น การเรียกชื่อสีของม้าต่าง ๆ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องเรียกให้ถูกตามแบบเดียวกัน ทั้งสิ้น ถ้าต่างคนต่างเรียกชื่อตามความเข้าใจของตนแล้ว ก็จะเป็นการผิดแปลกไปจะไม่เป็นที่เข้าใจ ได้ชัดเจน
การตรวจสีของม้านี้ยากมาก เพราะสีขนมี อยู่หลายอย่างหลายชนิด ผิดกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆจนไม่สามารถจะเอาเป็นที่แน่ว่าผิดกันอย่างไรก็มี ขนม้าตัวเดียวกันอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตาม อายุของม้านั้น เช่น สีแซม นานเข้าก็กลายเป็นสี ขาวได้ หรือม้าดำกลายเป็นแซมไปก็มี ลูกม้าซึ่งเกิดใหม่ ๆ มักจะมีสีขนผิดกว่าขนธรรมดาและ ยาวกว่า ต่อเมื่ออายุได้ ๗-๘ เดือน แล้วจึงได้ เปลี่ยนขนเป็นสีธรรมดาสีธรรมดาแบ่งออกได้เป็น ๓ จำพวก คือ
๑. ขนสีล้วน
๒. ขนสีแซม
๓. ขนสีผ่าน
ม้าขนสีล้วน เป็นม้าที่มีสีขนคล้ายคลึงกันทั่วตัว มีผิดกันเล็กน้อยบางแห่งเท่านั้น เช่น บางตัวค่อนข้างดำบ้าง ขาวบ้างบางแห่ง หรือมีรอยจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่สู้โตนักก็นับว่าเป็นม้าสีล้วนเหมือนกัน สีล้วนแบ่งออกเป็น ๗ ชนิดคือ
๑. สีขาว
๒. สีปลั่ง
๓. สีเหลือง
๔. สีจันทร์
๕. สีแดง
๖. สีน้ำตาล
๗. สีดำ
สีขาว แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
(๑) ม้าสีขาวธรรมดามีขนสีล้วน ผิวหนัง ใต้ขนดำ ตาดำ
(๒) ม้าสีขาวเผือก มีขนสีขาวเผือก หรือสีขาว ผิวหนังใต้ขนสีชมพู กีบเหลือง หรือขาว ลูกตาสีออกแดงคล้ายตากระต่ายขาว ม้าเผือก มักมีสีขาวมาแต่กำเนิด สีม้าขาวนั้นเมื่อยังเล็กอยู่ มักจะมีสีอื่น แล้วภายหลังจึงเปลี่ยนจนเป็นขาวธรรมดา
สีปลั่ง คือ ขนสีออกแดงคล้ายสีน้ำหมาก แต่อ่อน ม้าสีปลั่งแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
(๑) สีปลั่งแก่ คือ มีขนสีแดงมาก
(๒) สีปลั่งอ่อน มีสีคล้ายชมพู
สีเหลือง เป็นสีขาวเหลืองปนกันเหมือนทาขมิ้น สีเหลืองแบ่งออก เป็น ๓ ชนิด คือ
(๑) สีเหลืองอ่อน มีขนออกขาว ผิวหนัง ค่อนข้างขาว
(๒) สีนกขมิ้น มีขนเหลืองกว่าสีเหลืองอ่อน แต่มีหนังดำ กีบดำ
(๓) สีเหลืองธรรมดา คือ สีเหลืองแก่และ บาง มีสีออกเทา ๆซึ่งเรียกว่า "มีสีลาน" เพราะมี สีคล้ายใบลานหรือใบตองแห้ง
สีจันทร์ เป็นม้าสีเหลือง ขนคอและขนหางสีเหลือง เมื่อถูกแดดมักจะมีเงาเหมือนทองแดงม้าสีจันทร์แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ
(๑) สีจันทร์อ่อน
(๒) สีทอง
(๓) สีทองแดง มีสีคล้ายสีแดง แต่ขนคอ และขนหางไม่ดำ
ม้าสีจันทร์มักจะมีบรรทัดหลังเหล็ก บางทีมีสายบนหลัง ตามที่เข้าใจกันว่า ต้นตระกูลของม้าจำพวกนี้คงจะสืบเนื่องมาจากม้าลาย
สีแดง เป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีเงาเป็นมัน แต่ขนที่คอและหางสีดำ ม้าสีแดงนั้นมีอยู่ ๓ ชนิดคือ
(๑) สีแดงอ่อน
(๒) สีแดงธรรมดา
(๓) สีประดู่ มีขนสีแดงเข้ม และมีเงาเป็นวงกลมที่ก้น ข้อมักดำจัด
สีน้ำตาล มีอยู่ ๓ ชนิด คือ
(๑) สีน้ำตาลอ่อน มีสีเหลือง
(๒) สีน้ำตาลธรรมดา ค่อนข้างจะมีสีแดง
(๓) สีน้ำตาลแก่ มักจะมีขนดำแซมอยู่มาก
สีดำ มีอยู่ ๓ ชนิด
(๑) สีดำอ่อน มีสีออกเทา ๆ เรียกว่า "ม้าสวาท"
(๒) สีเขียว คือ ตัวมีสีดำ แต่ข้างตัวหรือตามท้องมีสีแดงปน
(๓) สีดำธรรมดาคือ ดำหมดทั้งตัว ถ้าดำจัดจนมีเงาเป็นมันเรียกว่า "ดำปีกกา" หรือสีนิล
ม้าขนสีแซม คือ ม้าที่ขนขาวขึ้นปนกับขนสีอื่น ม้าสีแซมแบ่งตามสีขนที่ปนอยู่กับสีขาวออก เป็น ๓ จำพวก คือ
(๑) แซมดำ
(๒) แซมเหลือง
(๓) แซมแดง
แซมดำ มีอยู่ ๒ ชนิด คือ
(๑) แซมดำธรรมดา มีขนดำแซมทั่วทั้งตัว เสมอกัน
(๒) แซมมรกต คือ มีขนดำขึ้นแซมเป็นวงกลมเป็น หย่อม ๆ ทั่วทั้งตัว
แซมเหลือง มีขนสีเหลืองขึ้นแซมทั้งตัว
แซมแดง มีขนอยู่ ๒ ชนิด คือ
(๑) แซมแดงธรรมดา มีขนแดงแซมทั่วทั้งตัวเสมอกัน
(๒) แซมเลือด มีขนแดงแซมเป็นจุด ๆขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพด และดูแล้วคล้ายรอยโลหิตหยด
ม้าขนสีผ่าน ม้าสีผ่านต้องถือสีขาวเป็นพื้น เดิม แม้จะมีสีขาวน้อยกว่าสีอื่นก็ตาม ส่วนสีอื่นที่ผ่านต้องเรียกสีนั้นเป็นขนสีผ่านเสมอ เช่น ผ่านเหลือง ผ่านดำ ดังนี้ เป็นต้น ม้าบางตัวผ่านจุดโตประมาณเท่าฝ่ามือหรือเท่าฟองไข่ ม้าชนิดนี้เรียกว่า "ม้าสีตลก"ม้าสีผ่านแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
(๑) ผ่านดำ
(๒) ผ่านแดง
(๓) ผ่านเหลือง
(๔) ผ่านแซมดำ แดง และเหลือง

ตัวอย่างสีของม้า
ม้าสีแดง

ม้าสีน้ำตาลแก่

ม้าพาโลมิโน

ม้าสีจันทร์

ม้าขนสีแซม

ม้าสีเขียว

การดูอายุม้า จากฟัน

การดูอายุม้า จากฟัน


การทำนาย หรือคาดคะเนอายุม้าจากลักษณะฟันของม้านั้นได้มีการศึกษา และใช้งานมาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี1 โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะของตัวฟัน จากลักษณะฟันชนิดพิเศษที่เรียกว่า “Hypsodontist” คือฟันที่มีลักษณะรากฟันยาว แต่ตัวฟันสั้น (short crown high root) พร้อมด้วยความสามารถในการเจริญขึ้นของฟันตลอดช่วงชีวิต ทั้งนี้ในความจริงแล้วฟันของม้าไม่ได้มีการงอกยาวขึ้นแต่อย่างใด เป็นเพียงการดันขึ้นมาของตัวฟันสำรองและราก และในที่สุดฟันของม้าจะเหลือเพียงแค่ตอของรากฟันเท่านั้น การเจริญของตัวฟันที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นไปตามการชดเชยเนื้อฟันที่สึกกร่อนไปจากการบดเคี้ยวอาหารอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ราวๆ16 ชั่วโมงต่อวัน การรบกวนใดๆของระบบการบดเคี้ยวอาหารของม้า เช่น ลดเวลาการเคี้ยวอาหารหยาบ จำพวกหญ้า หรือ เยื่อใยต่างๆ การให้กินแต่อาหารข้น หรือหัวอาหารเพียงอย่างเดียว จะทำให้เกิดความผิดปกติของการสึกหรอตามธรรมชาติของฟันได้2 ในการดูอายุจากฟันของม้าจะใช้การประเมินจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆของฟันตัดด้านล่างเป็นหลัก คือ •การโผล่พ้นเหงือกของฟัน •การสบกันของฟัน •การผลัดฟัน •การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของหน้าตัดฟัน



แต่ทั้งนี้การดูอายุจากฟันก็เป็นเพียง การคาดคะเนจากการข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งถืออาจจะถือได้ว่าเป็น ศิลปมากกว่าวิทยาศาสตร์ ที่มีความเที่ยงตรงในระดับที่รับได้ การฝึกหัดดูอายุฟันของม้านั้นจะต้องเริ่มจากการทำความคุ้นเคยลักษณะกายวิภาคเบี้องต้นของฟันม้าก่อนตามตัวอย่างใน รูป 1 และการแยกระหว่างฟันแท้ กับฟันน้ำนม ตามรูป 2 ซึ่งในม้าปกติแล้วจะมีฟันน้ำนมทั้งสิ้น 28 ซี่ และมีฟันแท้ได้ตังแต่ 36 - 44 ซี่ (ฟันเขี้ยวอาจพบได้ในแม่ม้า และฟันกรามน้อยที่1 “wolf tooth” สามารถพบได้ในม้าบางตัว) ระดับความแม่นยำของทำนายอายุม้าจากฟันนั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับฟัน ส่งผลให้การทำนายอายุฟันในม้าอายุมาก จะมีความแม่นยำน้อยกว่า การทำนายในม้าเด็ก เราสามารถแบ่งระดับได้ดังนี้ •ม้าแรกเกิด ถึง5 ปี ความแม่นยำสูงเนื่องจากลำดับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของฟัน •ม้าอายุตั้งแต่ 5 ปีถึง 18 ปี มีความแม่นยำระดับรับได้จากการคาดเดาโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ •ม้าตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีความคลาดเคลื่อนสูง ให้จัดอยู่ในม้าสูงอายุก็เพียงพอแล้ว




การดูอายุลูกม้าตั้งแต่แรกเกิด ถึงหนึ่งปี สามารถดูได้จากลำดับการขึ้น และการสบกันของฟันตัดน้ำนม ฟันตัดน้ำนมคู่แรก จะขึ้นพ้นเหงือกที่ 6 วัน, 6 สัปดาห์ และ6 เดือน ตามลำดับจากด้านในออกไปด้านนอก (สูตร 6 -6-6) และขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าการขึ้นของฟันนั้นให้นับต้องแต่การโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาทันที สำหรับลำดับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของฟันซี่น้ำนมให้อ้างอิงจากตาราง 1และฟันแท้จากตาราง 2 หลังจากม้ามีครบ 6 ปีเต็ม การคาดคะเนอายุม้าจะมีความแม่นยำน้อยลงเนื่องมาจากฟันแท้ได้เจริญเต็มที่แล้ว และต่อไปจะใช้ลักษณะการเปลี่ยนแปลง จากการสึกของหน้าตัดของฟันตัดล่างเป็นหลักสำหรับการดูลักษณะของหน้าตัดฟัน จะต้องเข้าใจ และสามารถแยกแยะลักษณะพิเศษของฟันม้าระหว่าง Dental Star และ Dental Cup ได้ สำหรับนิยามความแตกต่างระหว่าง Cup และ Star ให้จำไว้ว่า cup คือ ถ้วย เป็นถ้วยใส่กาแฟสีดำๆ ถ้าหลุมที่ฟันใส่กาแฟได้ไม่หก มันก็คือ Cup และ Cup มาก่อน star เพราะฉะนั้น ฟันที่มี Cup จะเป็นฟันที่อายุน้อยกว่า (ไม่ใช่ขึ้นที่อายุน้อยกว่า แต่พึ่งจะขึ้นมาไม่นาน)
ลำดับการสึกและสูญไปของ Cup ที่จะเริ่มตั้งแต่ 7 ปี 8 ปี และ9 ปี สำหรับฟันตัดฟันล่างซี่กลาง, ซี่งระหว่าง และซี่มุม ตามลำดับ (ดูรูปคำอธิบายในรูป 3 ) ทั้งนี้อย่าลืมว่าม้าแต่ละตัวมีความลึกของ Cup ไม่เท่ากัน และความเร็วของการสึกก็ไม่เท่ากันจากชนิดอาหาร และการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันไป



สำหรับการประยุกต์ใช้การสึกไปของ Cup ในฟันตัดด้านบนนั้นยังมีความไม่แน่นอนจึงไม่แนะนำให้นำมาใช้ และยังมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกอายุม้าได้ คือ Galvayne’s Groove ตัวอย่างตามรูป 3 ของฟันตัดบนซี่มุม แต่จะสามารถพบได้ ในม้าได้เพียง 30-50% เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงของหน้าตัดฟันตามอายุของม้า สามารถประมาณการณ์ได้ดังนี้ได้ดังนี้ 3 อายุ 7 ปี ฟันตัดซี่กลางไม่มี Cup ลักษณะหน้าตัดฟันล่างทุกซี่ยังเป็นวงรีและฟันตัดซี่มุมสบด้านลิ้นสบกันเรียบร้อยแล้ว อายุ 8 ปี เหลือ Cup ที่ฟันตัดซี่มุมเท่านั้น อายุ 9 ปี ไม่มีคับเหลือที่ฟันตัดล่าง พบ Dental Star ที่ฟันตัดซี่กลาง และซี่ระหว่าง (สีน้ำตาลอ่อนๆ ติดด้านริมฝีปาก) อายุ 10 ปี เริ่มพบ Galvayne’s Groove ที่ขอบฟันด้านบน, หน้าตัดฟันตัดล่างซี่กลาง และซี่ระหว่า เปลี่ยน เป็นลักษณะวงกลม แต่ซี่มุมยังคงเป็นวงรีอยู่ อายุ 10-15 ปี หน้าตัดฟันตัดซี่กลางเปลี่ยนจากวงกลม เป็นรูปสามเหลี่ยม อายุ 15 ปี Galvayne’s Groove ลากลงมาถึงกึ่งกลางฟัน ลักษณะหน้าตัดฟันตัดล่างซี่มุมเปลี่ยนเป็นรูปวงกลม อายุ 18 ปี ลักษณะหน้าตัดฟันตัดล่างทุกซี่เป็นรูปสามเหลี่ยม อายุ 20 ปี Galvayne’s Groove ลากยาวมาจนถึงขอบล่างของฟัน อายุ 20 ปีขึ้นไป Galvayne’s Groove เริ่มเลือนหายจากขอบฟันด้านบน ทั้งนี้ผู้เขียน ขอย้ำอีกครั้งว่า การประเมินอายุจากฟันม้านั้นไม่ใช่คำตอบตายตัวว่าม้าอายุเท่าไหร่ แต่เป็นการประมาณอายุเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็น ศิลปมากกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ จะต้องใช้ทั้งความรู้ และประสบการณ์เข้ามาประกอบการพิจารณา อย่างที่เรียกว่า “คาดเดาอย่างมีความรู้” มิใช่เป็นเพียงดูแล้วบอกว่า ฟันอย่างนี้ อายุเท่านี้ แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราะอะไร สุดท้ายขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสนุกกับการทายอายุม้า และผู้เขียนมีความยินดีที่จะช่วยคาดคะเนอายุม้าที่ท่านสนใจได้ โดยการส่งรูปภาพหลายๆมุมของฟันม้า รวมทั้งลักษณะของม้ามาด้วย

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การฝึกม้า

การฝึกม้าสำหรับขี่นั้นยากกว่าการขี่ม้าแน่นอนค่ะ ผู้ฝึกควรจะต้องเรียนรู้วิธีการขี่ที่ถูกต้อง เรียนรู้การออกคำสั่งต่างๆ การบังคับม้าโดยใช้น้ำหนัก การเตือนน่อง การใช้อุปกรณ์ช่วยในการขี่ และอื่นๆ ดังนั้นผู้ฝึกม้าที่ดีไม่เพียงแต่จำเป็นจะต้องมีทักษะการตีวง การดูแลม้าที่ดีเท่านั้น แต่ยังจะต้องมีตาที่ดี บอกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด มีประสบการณ์จากการขี่ม้าเยอะและสามารถรับมือกับม้าได้ตลอดเวลา เช่น รู้ว่าเมื่อม้ามีอาการต่อต้านพุ่งเข้าใส่คนตีวงเราจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร หรือ การที่ม้าเคี้ยวปากและหลุบคอลงต่ำแปลว่าอะไร รู้ว่าควรจะต้องให้รางวัลม้าตอนไหน หรือ ลงโทษม้าตอนไหน เป็นต้น การฝึกม้าสำหรับขี่มีรายละเอียดเยอะมากค่ะ อาจจะเขียนได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมดแต่จะพยายามถ่ายทอดให้ได้เยอะที่สุดค่ะ
 การตีวงนั้น ส่วนมากการใช้ราวเพนท์ ( ขนาดที่แนะนำคือประมาณ 15-20 ม. )จะเป็นการตีวงเพื่อให้ม้าได้ออกกำลังกาย แต่หากเราต้องการจะตีวงเพื่อฝึกม้านั้น ควรฝึกตีวงโดยใช้สายตีวง ( และแส้ตีวงในช่วงแรกๆ ) เราจะได้รับประโยชน์จากการตีวงโดยใช้เชือกตีวงมากมาย เพราะจะทำให้เราบังคับม้าได้ง่ายขึ้น ให้ม้าทำวงกลมเล็กลง-ใหญ่ขึ้นได้ และยังช่วยให้ม้ารู้จักเบนคอเข้าหาด้านในของวงกลมซึ่งจะทำให้ม้าพัฒนากล้ามเนื้อคอที่เหมาะสมและรู้จักการสอดขาหลังเวลาทำวง ม้าที่เบนคอไปด้านนอกวง ยกคอขึ้นสูง หรือเบนคอผิดจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อที่ไม่ถูกต้องและมีโอกาสสูงที่ม้าจะวิ่งไม่สอดขาหลังซึ่งในการขี่ม้าจัดว่าไม่ถูกต้องเพราะม้าจะไม่ใช้กล้ามเนื้อขาหลัง ส่งผลให้กล้ามเนื้อขาหลังลีบ ก้นเล็ก
 นอกจากนี้ การฝึกตีวงยังเป็นการเริ่มต้นสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกและม้า เพราะม้าจะต้องมุ่งสมาธิมาที่เราและคอยฟังคำสั่งต่างๆ การตีวงจึงจัดว่าเป็นการฝึกภาคพื้นดิน ( Ground work ) ที่สำคัญยิ่งในการเริ่มต้นการฝึกม้า การตีวงจะไม่ประสบผลสำเร็จเลยหากผู้ฝึกไม่รู้จักการออกคำสั่งที่ถูกต้องและม้าไม่ทำตามคำสั่ง คำสั่งนั้นมีตั้งแต่ เดิน-ทรอท-แคนเตอร์-หยุด เหล่านี้จัดว่าเป็นคำสั่งพื้นฐานที่ม้าจะต้องปฏิบัติตามได้ทันทีโดยที่ผู้ฝึกใช้แส้ตีวงให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย คำสั่งเหล่านี้ผู้ฝึกจะต้องสอนม้าตั้งแต่เริ่มแรก โดยการเปล่งเสียงจะต้องทำโดยใช้โทนเสียงที่ต่างกัน เพราะม้าจะรับรู้คำสั่งพวกนี้จากโทนเสียงสูง-ต่ำ-สั้น-ยาวที่ชัดเจน ม้าไม่สามารถแยกแยะคำพูดธรรมดาได้ค่ะ
 เวลาที่เหมาะสมในการตีวงคือประมาณ 15-20 นาที มีช่วงพักให้ม้าเป็นระยะๆ เมื่อม้าเริ่มรู้จักกับคำสั่งต่างๆดีแล้ว ให้พยายามเปลี่ยนจังหวะการก้าวของม้าบ่อยๆ เพื่อให้ม้ารู้จักตอบสนองต่อคำสั่งเร็วขึ้น ลดการใช้แส้ตีวงลงเรื่อยๆจนในที่สุดให้งดใช้แส้เลย 
 เมื่อม้าคุ้นกับคำสั่งเหล่านี้ดีแล้วและปฏิบัติตามได้อย่างร้อยเปอเซน เมื่อนั้นการฝึกขี่ ฝึกคำสั่งต่างๆให้ม้าก็จะง่าย เพราะเมื่อมีผู้ขี่นั่งบนหลัง ให้ผู้ขี่ออกคำสั่งเตือนน่องให้ม้าเดิน พร้อมกับมีคนบนพื้นอีกหนึ่งคนออกคำสั่งเดียวกันกับเวลาตีวง เมื่อม้าเดิน ให้ตบคอม้าหรือให้ขนมเล็กๆน้อยๆแก่ม้า และเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ทำไปสักพัก ม้าจะจำคำสั่งได้เองค่ะ

การเลือกซื้อม้า

 การเลือกซื้อม้า  
การคัดเลือกม้าเพื่อเอาไว้ขี่ หรือเอาไว้ขาย ต้องเป็นไปตามคุณลักษณะของผู้ที่ต้องการหรือผู้ซื้อ
การพิจารณาในการคัดเลือกม้าเพื่อขี่ :
ผู้เริ่มเล่นม้าใหม่ๆ ควรขอความรู้ คำแนะนำจากผู้ที่มีความชำนาญแล้ว
ม้าต้องมีความสมบูรณ์ ไม่มีตำหนิ ขาและเท้าทั้งสี่จะต้องแข็งแรงได้รูป
มีรูปร่างดี และลักษณะเป็นไปตามพันธุ์
จะต้องเลือกม้าที่มาจากตระกูลที่ดี และมีประวัติพันธุ์อย่างละเอียดสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจ
ม้าที่มีประวัติชนะเลิศการแข่งขัน สามารถใช้เป็นปัจจัยในการคัดเลือกได้
การเลือกม้าเพื่อจะเลี้ยงไว้ดูเล่นหรือเลี้ยงไว้ด้วยเหตุผลอื่นก็ตาม วิธีเลือก (ของไทย) ที่ยอมรับกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันก็คือการดูลักษณะม้า โดยพิจารณาลักษณะดังต่อไปนี้
ผิวม้า ม้ามาจากตระกูลดี และม้าลักษณะดีจะต้องมีผิวหนังบางขนสั้น มองเห็นรอยเส้นเลือดได้ชัดเจน เรียกว่า ม้าผิวบาง
อวัยวะภายนอก ม้าที่มีกล้ามเนื้อใหญ่โต ขาใหญ่ คอหนา ศีรษะโต ม้าที่มีลักษณะเช่นนี้ เป็นม้าแข็งแรง แต่ไม่ว่องไว เรียก ม้าทึบ
นิสัย ม้าที่มีลักษณะหงอย ไม่ปราดเปรียว ส่วนมากมักจะแข็งแรงเรียกว่า ม้าเลือดเย็น ม้าที่มีลักษณะปราดเปรียว ส่วนมากนิสัยดี และมีสายเลือดดี เรียก ม้าเลือดร้อน
ส่วนศีรษะ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
ส่วนหน้า จากตาถึงปลายจมูก ส่วนกระหม่อม จากตาถึงท้ายทอย ม้าที่ตระกูลดี ฉลาด ว่องไว และเลือดร้อน ส่วนหน้าจะเล็กกว่าส่วนกระหม่อมมาก
สันจมูก ม้าที่มีสันจมูกตรงหรือแอ่นงอนแสดงว่าเป็นม้าเลือดเย็น ม้าที่มีสันจมูกโค้งและนูนตรงกลางแสดงว่าเป็นม้าเลือดร้อน
รูจมูก ม้าที่มีรูจมูกกว้าง มักจะเป็นม้าที่แข็งแรง
ปาก ม้าปากกว้าง (มุมปากอยู่ใกล้แก้ม) เป็นม้าที่แข็งแรง ม้าปากเล็ก มุมปากเล็ก (มุมปากตื้น) มักจะเป็นม้าว่าง่าย สอนง่าย
ตา ม้าตากลมโตจะเป็นม้าเลือดเย็น สอนง่าย ม้าตาเล็กจะเป็นม้านิสัยโกง
ขากรรไกร ม้าขากรรไกรหนาและม้าขากรรไกรโต มักจะมีนิสัยขี้โกง เกียจคร้าน
หู
ม้าตระกูลดี ได้แก่ ม้าหนู คือ หูเล็กบางและชิดกัน
ม้าตระกูลปานกลาง ได้แก่ ม้าหู กระต่าย คือ หูเล็กแต่ยาว
ม้าตระกูลไม่ดี ได้แก่ม้าหูลา หูใหญ่ยาวปลายเรียว ม้าหูวัว หูจะสั้นหนา
คอสันคอ ม้าที่มีสันคอบาง เป็นม้ามีตระกูลดี วิ่งเร็ว แต่ไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนม้าที่มีสันคอหนา เป็นม้าตระกูลไม่ดี วิ่งไม่ค่อยเร็ว แต่แข็งแรง
ผมแผง ม้าตระกูลดี ผมแผงจะมีขนเส้นบางๆ ม้าตระกูลไม่ดี ผมแผงคอจะหยาบ เส้นหนา
รูปคอ คอม้ามีรูปร่างต่างกันออกไป ซึ่งจะเป็นลักษณะที่เป็นเครื่องสังเกตว่า ม้าจะดีหรือไม่ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด
ม้าคอหงส์ คือลักษณะรูปคอที่โค้งตลอด ตั้งแต่ต้นคอจนถึงปลายคอ ม้าที่มีคอ ลักษณะเช่นนี้ จะเป็นม้าที่วิ่งเรียบและมีฝีเท้าเร็วขี่สบาย
ม้าคอตรง คือม้าที่สันคอโค้ง ส่วนใต้คอตรง มีรูปคอพอเหมาะ ม้าที่มีลักษณะเช่นนี้จะแข็งแรง ว่องไว เหมาะแก่การขี่
หน้าอก เป็นเครื่องแสดงให้ทราบว่า ม้านั้นแข็งแรงหรือไม่ แบ่งออกเป็น
ม้าอกราชสีห์ คือ ม้าที่มีหน้าอกกว้าง มีกล้ามเนื้อมาก และกล้ามเนื้อนูนเป็นก้อนทั้งสองข้าง แสดงว่าเป็นม้าที่มีกำลังแข็งแรง มีความอดทนดี
ม้าอกไก่ คือ ม้าที่มีหน้าอกแคบ กล้ามเนื้อน้อยและอกนูนเป็นสันลงมา ตรงกลางดูคล้ายอกไก่ เป็นม้าที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก
ม้าอกแคบหรืออกห่อ คือ ม้าที่มีกล้ามเนื้ออกน้อย เวลายืนขาหน้าจะชิดกันมาก แสดงว่าไม่แข็งแรงและไม่อดทน
ตะโหงก เป็นสิ่งแสดงความแข็งแรงของม้า ม้าที่ว่องไวจะมีตะโหงกสูงเด่น ส่วนม้าตะโหงกเตี้ยแสดงว่าม้าไม่แข็งแรง
ส่วนหลัง เป็นส่วนที่รับน้ำหนักของคนที่นั่งบนหลังม้า ม้าที่มีลักษณะหลังที่ยาว และอ่อน แสดงถึงว่าม้านั้นไม่แข็งแรง เพราะเมื่อใช้ขี่หรือบรรทุกของ จะทำให้หลังอ่อนรับน้ำหนักได้ไม่มาก ถ้าม้าที่ส่วนหลังสั้นจะทำให้ม้าเอี้ยวตัวไม่สะดวก และเป็นเครื่องชี้ให้ทราบได้ว่าปอดม้านั้น จะไม่ใหญ่ เวลาวิ่งจะเหนื่อยเร็ว เราแบ่งลักษณะรูปส่วนหลังม้าออกเป็น
ม้าหลังโค้ง เป็นม้าที่รับน้ำหนักได้ดีมาก และมีความอดทนต่อน้ำหนักที่รับ แต่ถ้าใช้ขี่จะกระเทือนมาก ม้าชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้บรรทุกสิ่งต่างๆ
ม้าหลังตรง เป็นม้าที่มีลักษณะดี เมื่อเวลาบรรทุกของ หลังจะแอ่นลงเล็กน้อย ม้าชนิดนี้รับน้ำหนักได้ดี มีความอดทนและขี่สบาย
ส่วนก้นหรือส่วนท้ายของม้า ม้าที่มีก้นหนาใหญ่ จะเป็นม้าที่มีกำลังมาก แข็งแรงและวิ่งได้เร็ว
หาง มีประโยชน์สำหรับป้องกันยุงและแมลงมารบกวน ฉะนั้นจึงไม่ควรตัดหางม้าให้สั้นเกินไป หางม้ายังบอกตระกูลของม้าได้ โดยดูตำแหน่งการติดของมัน
างติดสูง คือตำแหน่งของหางจะติดได้ระดับเดียวกันกับก้นของม้า แสดงว่าเป็นม้าตระกูลดี
หางติดต่ำหรือหางจุกตูดเป็นม้าตระกูลไม่ดี ไม่สวยงาม หางติดปานกลาง แสดงว่าเป็นม้าตระกูลพอใช้ได้
สวาบ สวาบของม้าธรรมดา มักจะกว้างราว ๑ ฝ่ามือ จึงจะนับว่าพอดี ถ้าสวาบกว้างกว่านี้ส่วนมากนับว่าไม่แข็งแรง มักจะเป็นม้าเอวบางหรือเอวอ่อน
สะบัก ม้าที่มีสะบักยาว มักวิ่งได้เร็ว เนื่องจากม้าเหยียดขาไปข้างหน้าได้มาก ก้าวขาได้ยาวและเร็ว สะบักม้าที่ดีจะมีความยาวเท่ากับส่วนศีรษะหรือถ้ายาวกว่าส่วนศีรษะยิ่งดี สะบักควรจะเอนประมาณ ๕๐-๖๐ องศากับลำตัว จึงนับว่าดี
ขาหน้า ขาหน้าจะต้องไม่โก่งหรือแอ่น ขาทั้งคู่ควรจะตั้งตรง จึงจะเป็นม้าที่วิ่งได้ดี ม้าที่ปลายเท้าแคบ หรือยืนบิดปลายเท้า หรือยืนขาถ่าง มักจะวิ่งไม่เร็ว ส่วนประกอบของขาหน้าที่ควรพิจารณาได้แก่
โคนขา ควรจะมีกล้ามเนื้อแข็งแรง และค่อยๆ เรียวลงมาตามลำดับ และผิวหนังบาง เห็นเส้นเอ็นได้ชัดจึงจะดี
หน้าแข้ง ต้องเรียวเล็กลงตามลำดับ มีผิวหนังบาง ขนละเอียดไม่ปุกปุยและหยาบ
ขาหลัง เช่นเดียวกับขาหน้า คือ ตั้งได้พอเหมาะ ขาหลังทั้งสองต้องอยู่ห่างกันพอเหมาะ เวลาม้ายืนขาหลังต้องเอนเข้าข้างในตัวเล็กน้อย และข้อตาตุ่มของขาหลังโตกว่าข้อตาตุ่มของขาหน้าเล็กน้อย

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เครื่องม้า

เครื่องม้า ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆมากมายที่จะอำนวยควาสะดวกให้กับผู้ขี่และม้าได้ แต่อุปกรณ์หลักๆประกอบไปด้วย
 สายบังเหียน
  อานม้า
  เครื่องม้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
 สายบังเหียน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการบังคับม้า เพื่อให้ม้าเลี้ยวไปตามทิศทางที่ผู้ขี่ต้องการ ตลอดจนเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารความต้องการระหว่างผู้ขี่และม้า บังเหียนจะใช้ผูกกับส่วนของขลุมขี่ที่ผูกติดกับหน้าม้า
 อานม้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ใน การนั่งของผู้ขี่ บนหลังม้า เพื่อให้ผู้ขี่สามารถบังคับม้าด้วยน่อง โดยมีส่วนประกอบสำคัญ คือสายรัดทึบที่ยึดตัวอานให้อยู่บนหลังม้าพอดี ไม่ให้เลื่อนไหลหรือพลิก และสายโกลนและโกลนซึ่งใช้ในการเหยียบเพื่อพักขาของผู้ขี่
 เครื่องม้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ได้แก่ ขลุมขี่ ขลุมจูง ขลุมตีวง เป็นต้น
ขลุมขี่ เป็นอุปกรณ์ที่ผูกติดกับส่วนหน้าม้า โดยมีส่วนยึดเหล็กปากให้อยู่ในช่องปากของม้าเพื่อใช้ในการบังคับ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) ขลุมเดี่ยว หรือเรียกว่า ชุดบังเหียนปากอ่อน ใช้สำหรับผู้บังเหียนเส้นเดียว
(๒)ขลุมคู่ หรือเรียกว่า ชุดบังเหียนปากแข็ง ขลุมนี้ใช้สำหรับผูกกับสายบังเหียน ๒ เส้น โดยสายหนึ่งผูกติดกับเหล็กปากอ่อน(ขยับได้) และอีกสายหนึ่งที่ผูกกับเหล็กปากแข็ง(มีหยักโค้งทรงรูป) ซึ่งต้องมีสายรัดกระหม่อม ๒ สาย สายขลุม ๒สาย สายบังเหียน ๒ สาย การใช้ขลุมคู่นี้มักจะใช้กับม้าที่นิสัยเกเร ต่อต้านการบังคับ ซึ่งหากใช้บังเหียนปากอ่อนแล้วจะไม่สามารถบังคับได้
ขลุมจูง เป็นขลุมที่ใส่ไว้เพื่อล่ามม้า ใช้ผูกหรือจูงเดินในบริเวณที่ไม่ใช่แปลงปล่อยม้า ใช้เพื่อจูงเดินหรือล่ามในการทำความสะอาดม้า
ขลุมตีวง เป็นขลุมที่มีไว้เพื่อใช้ในการฝึกม้าให้รู้จักทำตามคำสั่ง ขลุมนี้จะใช้กับม้าที่นำมาฝึกใหม่ๆ
การใส่บังเหียนและอานม้า
สิ่งสำคัญอีกอย่างในการดูแลรักษา ม้า คือ การใส่บังเหียนและการใส่อานให้ถูกวิธี โดยสายรั้งเหล็กปากจะต้องไม่หย่อนจนเกินไป (ให้เห็นรอยหยักบนมุมปาก ๓ หยัก) และการผูกอานโดยให้หัวอานอยู่กึ่งกลางตะโหงกม้าเสมอ และใส่สายรัดทึบให้แน่น ไม่ให้อานเลื่อนไปมาได้ซึ่งจะทำให้หลังม้าเป็นแผลภายหลัง